สถิติ
เปิดเมื่อ8/07/2013
อัพเดท2/10/2013
ผู้เข้าชม61933
แสดงหน้า74627
เมนู
บทความ
y
ปฎิทิน
April 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
    




ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟของอำเภอราศีไศล

อ่าน 1027 | ตอบ 0
หน่วยที่  2
ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟของอำเภอราษีไศล
            บุญบั้งไฟ  นิยมทำกันในเดือนหกถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดไม่ได้  เพราะตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน  ชาวอีสานมีความเชื่อว่า  ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาลเกิดความแห้งแล้งไม่มีน้ำทำนา  แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาลเกิดความอุดมสมบูรณ์ปราศจากโรคภัย  งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณีประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน    พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านไปร่วมงานบุญบั้งไฟ  ซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี
 
จุดประสงค์ของการทำบุญบั้งไฟ
            1.   เพื่อเป็นการสักการบูชาพระยาแถน  ซึ่งเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฝน  ถ้าได้จุดบั้งไฟขึ้นไปบูชา    เทพเจ้าองค์นี้แล้วจะบันดาลให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาลและมีปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ ธัญญาหาร 
            2.   เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี  สืบไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป
            3.   การเชื่อมความสามัคคี  คนในบ้านเมืองหนึ่งที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกัน  ถ้ามิได้ทำกิจกรรม ร่วมกันก็จะมีฐานะต่างคนต่างอยู่ เมื่อบ้านเมืองเกิดความยุ่งยากจะขาดกำลังคนแก้ไข  ดังนั้นเมื่อทำบุญ บั้งไฟก็จะเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายได้มาร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจกรรม  สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ
            4.   การแสดงการละเล่น  เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมาแสดงการละเล่น  คนเราเมื่อได้เล่นได้กินร่วมกันก็จะเกิดความรักใคร่ใยดีต่อกัน  การเล่นบางอย่างจะสุภาพเรียบร้อย  บางอย่างหยาบโลนแต่ก็ไม่ถือสาหาความ ถือเป็นการเล่นเท่านั้น
  
ขั้นตอนการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟ
            1.   ประชุมชาวบ้าน  ผู้เฒ่าผู้แก่  พระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่  ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไปแต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน(ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน)และพ่อเฒ่าจ้ำ (หมอผีประจำหมู่บ้าน)  ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป(พิธีกรรมนี้ไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง)
            2.   เมื่อตกลงจัดผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกกล่าวเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ  เรียกว่า 'เตินป่าว'  ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า 'สลากใส่บุญ'  การเตรียมการต่างๆตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ  ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นต้นฉบับ  ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพุทธศาสนาเข้าไปด้วย  เช่น       การบวชและการฮดสงฆ์  เป็นพิธีการในการยกย่องพระสงฆ์
            3.   ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธา  เพื่อร่วมสมทบกันสร้างบั้งไฟ(ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว)  ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำหรือ  'ผาม'  หรือ  'ตูบบุญ'  ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริง  ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตตาหาร  ส่วนข้างล่างปูด้วยใบไม้หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง  โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินงาม
            4.   ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย  'ฉบับ'  ซึ่งมักจะเป็นพระโดยมีลูกมือเป็นชาวบ้านผู้ชาย ช่วยในการไปหาไม้สำหรับมาเผาเป็นถ่านสำหรับคั่วผสมกับดินประสิวเรียกว่า  การทำหมื่อ  ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน  ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน  ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ  หากปะทุช้าก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับที่กำหนด 
            5.   การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด  ทะลวงปล้องให้ถึงก้น  ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก  ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควรแล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ  (ดินปืน)  ให้แน่นด้วยการตำหรือใช้คานดีดคานงัด
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา  (ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว) ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทน  ซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี และจำนวนบั้งไฟที่จุดมีจำนวนมากขึ้น
            6.   เมื่อถึงวันงานคือ  ในวันสุกดิบชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟไปยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน พร้อมนำเอาเหล้าไปด้วยจำนวนมาก  ส่วนหนึ่งใช้เซ่นสรวงมีการจุดบั้งไฟขนาดเล็กเรียก'บั้งเสี่ยง'เพื่อเสี่ยงทายดูถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาปีนั้น   จากนั้นก็ดื่มเหล้าฟ้อนรำรอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน(งานนี้มีเฉพาะผู้ชายที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมพิธี)  หลังจากนั้นจะพากันแห่บั้งไฟไปยังสถานที่จัดงานหรือที่เรียกว่า  วันโฮม  มีการเซิ้งออกท่าทางต่างๆของการร่วมเพศอยู่ด้วย  ในตอนบ่าย จะมีการตีกลองโฮม  เพื่อให้ขบวนแห่ทุกขบวนไปรวมกันที่วัด  ซึ่งจะหมายถึงการไปร่วมในพิธีบวชของบุตรหลานหรือการฮดสงฆ์  ถ้ามีการบวชก็จะมีการแห่นาคด้วยม้า(ถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะพอทำได้) มีการจุดตะไลตามหลังม้าไปตลอดทางและหากมีการฮดสงฆ์อยู่ด้วยก็จะแห่พระภิกษุที่ต้องการ  'ฮด' นำหน้าเจ้านาคไป  ในกลางคืนจะมีการเส็งกลองหรือแข่งตีกลองกัน  โดยแต่ละหมู่บ้านจะนำกลองกิ่งของวัดในหมู่บ้านตนมาตีแข่งถือกันว่าถ้าหากแพ้ในการเส็งกลองก็จะไม่ใช้กลองนั้นอีกเลย จะต้องไปเสาะแสวงหากลองมาเส็งใหม่ในปีหน้า  การเส็งกลองจะมีกันไปจนถึงเที่ยงคืน
            7.   รุ่งเช้าของวันที่สองจะมีการทำบุญถวายจังหันพระ   พอตกบ่ายก็มีการแห่บั้งไฟไปยังค้างที่เตรียมไว้อาจใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นค้างก็ได้   การแข่งขันระหว่างหมู่บ้านจะดูกันว่าหมู่บ้านใดสามารถยิงไปได้สูงกว่ากัน (ใช้การนับไปจนกว่าจะมองเห็นบั้งไฟหล่นพ้นก้อนเมฆลงมา) เป็นการแสดงความสามารถของช่างหรือฉบับของบั้งไฟบ้านนั้น  หากบั้งไฟบ้านใดซุ(พ่นดินปืนออกมาแต่ไม่ขึ้น) หรือแตกระหว่างการจุด  ช่างหรือฉบับจะถูกจับโยนลงตมคือโยนลงไปในโคลนเป็นที่สนุกสนานทั้งผู้โยนและถูกโยน
 
ตำนานเรื่องเล่าต่างๆ
            ตำนานเรื่อง  พญาคันคาก – พญาแถน
            เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก  ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้งพญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มากจึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์  สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก  พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก          สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน  ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถนแต่ก็ต้องพ่ายแพ้  จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน  ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย  หมดกำลังใจและสิ้นหวังได้แต่รอวันตาย
ในที่สุดพญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน  จึงได้วางแผนในการรบโดยให้ปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน  เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน  ซึ่งมีมอด  แมลงป่อง  ตะขาบ  สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด  ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหารและอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย  หลังจากวางแผนเรียบร้อยกองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ  ซึ่งมอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ  แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด  ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย  ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
               1)  ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใดให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
               2)  ถ้าได้ยินเสียงกบ  เขียดร้อง  ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
               3)  ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว)  หรือเสียงโหวด  ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว  หลังจากที่ได้สัญญากันแล้วพญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้
 
            ตำนานเรื่อง  ท้าวผาแดง – นางไอ่
            วรรณคดีอีสานเรื่องนี้เป็นปฐมเหตุของบุญบั้งไฟ  ซึ่งเป็นประเพณีที่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาตั้งแต่โบราณกาลตามเรื่องที่เล่าขานสืบต่อกันมาเนื้อเรื่องมีอยู่ว่า  พระยาขอมผู้ครองเมืองเอกชะทีตา  มีธิดานางหนึ่งชื่อ  'นางไอ่คำ'  เป็นสตรีที่มีรูปร่างงดงาม  ซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนมากจึงสร้างปราสาท  7  ชั้นให้อยู่พร้อมเหล่าสนม  กำนัลคอยดูแลอย่างดี  ความงามของนางเป็นที่เลืองลือไปถึงบรรดาเจ้าชายเมือง    ต่างๆจนเป็นที่หมายปองอยากจะได้มาเป็นคู่ครองทุกคน  ท้าวผาแดงโอรสเจ้าเมืองผาโพงได้ทราบข่าวเล่าลือ ถึงความงดงามของนางไอ่ก็เกิดความหลงใหลใฝ่ฝันในตัวนางเป็นอันมากจึงวางแผนทอดสัมพันธไมตรีด้วยการเตรียมแก้วแหวนเงินทองพร้อมด้วยผ้าเนื้อดีไปฝากนางไอ่  เมื่อมหาดเล็กนำสิ่งของไปมอบให้นางไอ่ตามที่ท้าวผาแดงประสงค์และเล่าถึงความงาม  องอาจ  ผึ่งผายสมชายชาตรีของผาแดงให้นางไอ่ฟังเท่านั้นนางก็เกิดความสนใจและฝากเครื่องบรรณาการไปให้ท้าวผาแดงเป็นการตอบแทนด้วยเช่นกัน  ก่อนที่มหาดเล็กจะเดินทางกลับนางไอ่ได้ฝากคำกล่าวเชิญท้าวผาแดงซึ่งตั้งทัพรออยู่นอกเมืองให้เข้าไปในเมืองเพื่อพบกับนางด้วย  เมื่อทั้งสองได้พบกันความรักก็เกิดขึ้นและรุนแรงอาจเป็นเพราะบุพเพสันนิวาสในชาติปางก่อนของทั้งคู่  ในที่สุดทั้งสองก็ได้ครองรักกัน 
            ฝ่ายท้าวพังคีโอรสของพญาศรีสุทโธ  ซึ่งอดีตชาติบันดาลให้เป็นไปโดยเรื่องมีอยู่ว่า  ท้าวพังคีในอดีตชาตินั้นเป็นชายหนุ่มที่ยากจนและเป็นใบ้เดินทางขอทานไปตามหมู่บ้านต่างๆจนมาถึงบ้านของเศรษฐีคนหนึ่งจึงได้ไปขออาศัยอยู่และช่วยทำงานให้เศรษฐีคนนั้นโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยทำให้เศรษฐีพอใจและรักใคร่เป็นอย่างมากถึงกับยกลูกสาวคนหนึ่ง  ซึ่งเป็นชาติปางก่อน(อดีตชาติ)ของนางไอ่ให้เป็นภรรยาท้าวพังคีในชาตินั้นเป็นชายหนุ่มที่ไม่เหมือนใครแทนที่จะรักใคร่ภรรยาของตนแต่ชายหนุ่มกลับไม่สนใจใยดี  ไม่เคยรวมหลับนอนด้วยกันแม้แต่ครั้งเดียวแต่ภรรยาก็ไม่เคยปริปากบอกให้ใครทราบนางปรนนิบัติสามีเยื่องภรรยาที่ดีเสมอมา ต่อมาท้างพังคีคิดถึงบ้านจึงพาภรรยาเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน  เศรษฐีผู้เป็นบิดาจัดเสบียงให้  ชายหนุ่มให้ภรรยาเป็นคนหาบเสบียงให้  ส่วนหนุ่มพังคีไม่เคยช่วยเหลือนางเลยทำให้นางลำบากและเหน็ดเหนื่อยมากในขณะที่เดินข้ามห้วย  ภูเขาและป่าดงพงไพรจนกระทั่งเสบียงที่นำไปหมดลงกลางทางท้าวพังคีเห็นต้นมะเดื่อมีผลสุกเต็มต้นจึงขึ้นไปเก็บกินต่างข้าว  ฝ่ายนางไอ่คอยให้สามีโอนผลมะเดื่อสุกลงมาให้ไม่ได้รับความสนใจ  ส่วนสามีกินอิ่มคนเดียวแล้วลงมาจากต้นมะเดื่อเดินหนีไปนางจึงตัดสินใจขึ้นไปเก็บกินเอง  เมื่อนางกินอิ่มแล้วลงจากต้นมะเดื่อไม่พบสามีจึงเดินตามหา  แต่ก็ไม่พบนางจึงมีความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่งพอมาถึงต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่งนางจึงลงไปอาบน้ำและดื่มกินพอมีความสดชื่นขึ้นมา  จากนั้นนางจึงว่า  'ชาติหน้าขอให้สามีนอนตายอยู่บนกิ่งไม้และเกิดชาติหน้าฉันใดอย่าได้เป็นสามีภรรยากันอีกเลย'  ด้วยแรงอธิษฐานของนางในชาติต่อมาสามีของนางจึงเกิดมาเป็นท้าวพังคี  ส่วนนางได้เกิดมาเป็นนางไอ่
เมื่อนางไอ่ผู้มีสิริโฉมงดงามเติบโตเป็นสาวแล้วพระยาขอมผู้เป็นบิดาได้มีใบฎีกาแจ้งข่าวให้หัวเมืองน้อยใหญ่จัดบั้งไฟมาจุดแข่งขันกันที่เมืองเอกชะทีตาจุดประสงค์เพื่อจุดขึ้นไปบูชาพระยาแถนอยู่บนฟ้าให้บันดาลฝนตกลงมาตามฤดูกาลประการหนึ่งและอีกประการหนึ่ง  หากบั้งไฟของคนใดขึ้นสูงกว่าเพื่อนคนนั้นจะได้นางไอ่เป็นคู่ครอง  พระยาขอมได้กำหนดวันเป็นวันขึ้น  ๑๕  ค่ำเดือน  ๖  เป็นวันงานทำให้บ้านเมืองน้อยใหญ่  บุญบั้งไฟหมื่นบั้งไฟแสนมาแข่งกันมากมาย  งานบุญบั้งไฟครั้งนั้นนับเป็นงานที่ใหญ่โตมากพอถึงวันงานผู้คนหลั่งไหลมาทั่วทุกสารทิศมีการแข่งขันตีกองหรือภาษาอีสานเรียกว่า 'เส็งกอง'กันอย่างครึกครื้นหนุ่มสาวต่างเกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน  แม้งานบุญบั้งไฟครั้งนี้ท้างผาแดงจะไม่ได้รับหนังสือฎีกาบอกบุญแต่ได้นำบั้งไฟมาร่วมด้วยพระยาขอมก็ได้ให้การต้อนรับท้าวผาแดงเป็นอย่างดี     ฝ่ายท้างพังคีโอรสเจ้าเมืองบาดาลทราบข่าวอยากมาร่วมงานที่เมืองมนุษย์ด้วยทั้งนี้เพราะท้าวพังคีต้องการชมโฉมนางไอ่เป็นกำลังอยู่แล้วและคิดในใจว่าจะต้องไปชมบุญบั้งไฟครั้งนี้แม้ว่าบิดาจะห้ามอย่างไรก็ตามก่อนที่จะโผล่ขึ้นที่เมืองเอกชะทีตาของพระยาขอม  ท้าวพังคีสั่งให้บริวารแปลงร่างเป็นมนูษย์บ้างเป็นสัตว์บ้าง  ส่วนตนเองแปลงร่างเป็น  'กระรอกเผือก'  หรือภาษาอีสานเรียก  กระฮอกด่อน  ออกติดตามชมความงามของนางไอ่บนขบวนแห่ของเจ้าเมืองไปอย่างหลงใหล  การแข่งขันบั้งไฟเป็นไปด้วยความสนุกสนานทุกคนจดจ่อว่าใครจะชนะและได้นางไอ่เป็นคู่ครอง  ซึ่งการแข่งขันบั้งไฟในครั้งนั้นท้าวผาแดงกับพระยาขอมมีการพนันกันว่าถ้าบั้งไฟของท้าวผาแดงชนะพระยาขอมจะยกนางไอ่ให้เป็นคู่ครองผลการแข่งขันปรากฏว่าบั้งไฟของพระยาขอมและท้าวผาแดงต่างไม่ขึ้นด้วยกันทั้งสองบั้ง  คงมีแต่บั้งไฟของพระยาแดดเมืองฟ้าแดดสูงยางและของพระยาเชียงเหียนเท่านั้นที่ขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นเวลานานถึงสามวันสามคืนจึงตกลงมาและพระยาทั้งสองเป็นอาของนางไอ่ด้วย  การแข่งขันเพื่อได้นางไอ่เป็นรางวัลนั้นจึงล้มเลิกไป
            เมื่องานบุญบั้งไฟเสร็จสิ้นแล้วท้าวผาแดงและท้าวภังคีต่างฝ่ายต่างกลับบ้านเมืองของตน  ในที่สุดท้าวภังคีทนอยู่ในเมืองบาดาลไม่ได้เพราะหลงใหลในสิริโฉมของนางไอ่จึงพาบริวารกลับมายังเมืองมนุษย์อีกโดยแปลงร่างเป็นกระรอกเผือกอย่างเดิม  ส่วนที่คอจะแขวนกระดิ่งทองไว้กระโดดไปเกาะอยู่บนกิ่งไม้ใกล้หน้าต่างห้องนอนของนางไอ่  เสียงกระดิ่งทองดังกังวาลขึ้นนางไอ่ได้ยินเสียงกระดิ่งเกิดความสงสัยจึงเปิดหน้าต่างออกมาเห็นกระรอกเผือกมีความพอใจอยากได้นางจึงสั่งให้นายพรานฝีมือดีจากบ้านกงพานตามจับกระรอกเผือกตัวนั้นให้ได้ไม่ว่าจะจับตายหรือจับเป็น  นายพรานออกติดตามกระรอกเผือกที่กระโดดไปตามกิ่งไม้  เริ่มตั้งแต่บ้านพันดอน  บ้านน้ำฆ้อง  นายพรานไม่ได้โอกาสเหมาะสักทีจึงไล่ติดตามไปเรื่อยๆจนถึงบ้านนาแบก  บ้านดอนเงิน  บ้านยางหล่อ  บ้านเหล่าใหญ่  บ้านเมืองพรึก  บ้านม่วงไม่มีโอกาสยิงกระรอก  ในที่สุดผลกรรมเก่าตามมาทันขณะที่กระรอกมาถึงต้นมะเดื่อที่มีผลสุกเต็มต้นก้มหน้าก้มตากินผลมะเดื่อสุกด้วยความหิวโหย  นายพรานจึงได้โอกาสยิงกระรอกเผือกด้วยหน้าไม้ซึ่งมีลูกดอกอาบยาพิษ  เมื่อถูกยิงท้าวภังคีในร่างของกระรอกเผือกรู้ตัวว่าตนเองจะต้องตายแน่นอนจึงสั่งให้บริวารนำความไปแจ้งให้บิดาทราบ  ก่อนตายได้อธิษฐานว่าขอให้เนื้อของตนมีมากมายถึงแปดพันเล่มเกวียนพอเลี้ยงคนได้ทั่วถึงเมื่อกระรอกเผือกสิ้นใจตาย  นายพรานกับพวกนำเอาไปชำแหละที่บ้านเชียงแหวแบ่งให้ผู้คนทั้งบ้านใกล้และบ้านไกลได้กินกันโดยทั่วถึง  ยกเว้นบ้านดอนแม่หม้ายที่ไม่มีผัวหรือบ้านดอนแก้ว  ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางทุ่งหนองหานจึงรอดพ้นจากการถูกถล่มทลายและยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
เมื่อบริวารไปบอกเรื่องพระยาภังคี  พญานาคโกรธแค้นมากจึงสั่งบ่าวไพร่จัดพลขึ้นไปอาละวาดเสียงดังครืนๆทั่วแผ่นดิน  ขณะที่บ้านเมืองพระยานาคถล่มทลายอยู่นั้นท้าวผาแดงกำลังขี่ม้า  'บักสาม'      มุ่งหน้าไปหานางไอ่เห็นนาคเต็มไปหมดและเล่าเรื่องที่พบเห็นให้นางไอ่ฟัง  นางไอ่ไม่สนใจแต่ได้ทำอาหารที่มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษมาให้ผาแดงรับประทาน  ท้าวผาแดงจึงถามว่าเนื้ออะไรจึงมีกลิ่นหอมนักได้รับตอบว่าเนื้อกระรอกเผือกที่ถูกนายพรานยิงตาย  พอตกตอนกลางคืนผู้คนหลับสนิทเหตุการณ์ที่ใครๆไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นคือมีเสียงดังครืนๆทั่วแผ่นดิน  เมืองเอกชะทีตาของพระยาขอมถล่มทลายลงเป็นหนองหานน้อย     ซึ่งเป็นต้นน้ำปาวในปัจจุบัน  ท้าวผาแดงทราบได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของพวกพญานาคจึงคว้าแขนนางไอ่ขึ้นหลังม้าบักสามควบหนีออกจากเมืองเพื่อให้พ้นภัยแต่เนื่องจากนางไอ่ได้รับประทานเนื้อกระรอกเผือกด้วยแม้จะหนีไปทางไหนพวกนาคตามไปแผ่นดินถล่มทลายไปด้วย  ท้าวผาแดงมุ่งหน้าไปทางห้วยสามพาดเพื่อหนีไปเมืองผาโพงแต่ไร้ผลเพราะถูกพวกนาคติดตามไม่ลดละ  ในที่สุดนางไอ่ถูกนาคใช้นาคฟาดตกจากหลังม้าและจมหายไปในพื้นดินทันที  เมื่อนางไอ่จมดินไปต่อหน้าต่อตาท้าวผาแดงกลับถึงเมืองผาโพงเกิดตรอมใจคิดถึงนางไอ่ตลอดเวลา  ข้าวปลาไม่ยอมกินจนผ่ายผอมและล้มป่วย  ในที่สุดตรอมใจตายตามนางไอ่เมื่อท้าวผาแดงตายไปเป็นผีมีความอาฆาตพยาบาทต่อพญานาคอยู่  ไม่วายครั้งมีโอกาสเหมาะผีท้าวผาแดงสั่งไพร่พลเตรียมตัวเดินกองทัพผีไปรบกับพญานาคให้หายแค้น  ผีท้าวผาแดงมีบริวารผีเป็นแสนๆการเดินทัพมีเสียงดังอึกทึกปานแผ่นดินถล่มได้รายล้อมเมืองบาดาลซึ่งเป็นเมืองของพญานาคไว้รอบด้านต่างฝ่ายต่างใช้อิทธิฤทธิ์รบกันนานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่มีใครแพ้ชนะ  ฝ่าย 'สุทโธนาค'เจ้าเมืองบาดาลซึ่งแก่ชรามากแล้วไม่อยากทำบาปทำกรรมต่อไปเพราะต้องการไปเกิดในภพของพระศรีอาริยะเมตไตรจึงไปขอร้องท้าวเวสสุวัณผู้เป็นใหญ่ให้มาตัดสินให้  เมื่อท้าวเวสสุวัณได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ตามมาให้ผลในชาตินี้และทั้งสองฝ่ายมีเหตุผลพอๆกัน  ท้าวเวสสุวัณจึงขอให้ทั้งสองฝ่ายเลิกราต่อกันไม่ต้องฆ่ากันให้มีเมตตาต่อกันให้รักษาศีลห้าปฏิบัติธรรมและให้มีขันติธรรมทั้งผีท้าวผาแดงและพญานาคได้ฟังคำสั่งสอนของท้าวเวสสุวัณเข้าใจในเหตุผลต่างฝ่ายต่างอนุโมทนาสาธุ  เหตุการณ์จึงยุติลงด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันและอภัยกันในที่สุด
ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :